หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2561

บูชิโด | วิถีแห่งนักรบซามูไร


ที่มาภาพ : https://ru.pngtree.com/freepng/samurai-silhouette-vector-material_1834669.html

   วิถีแห่งนักรบหรือบูชิโด คือหนึ่งในวิถีทางปฏิบัติตนที่ชาวญี่ปุ่นยึดถือและผูกพันธ์จนเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของตนมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษอย่างแยกไม่ออก อันมีซามูไรยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติตนเพื่อรับใช้องค์จักรพรรดิ ด้วยความจงรักภักดีตราบจนลมหายใจสุดท้ายของเหล่านักรบซามูไร ถ้าจะทำความเข้าใจจิตวิญญาณของซามูไรให้ถ่องแท้ เราจำเป็นที่จะต้องเข้าใจหลักปฏิบัติบูชิโด 


ที่มาภาพ : https://board.postjung.com/838794.html

โดยหลักปฏิบัติบูชิโดมาจากคำสอนที่เป็นส่วนผสมของแนวคิดแห่งคุณธรรมทั้ง 5 คือ ลัทธิเต๋า มีหลักคำสอนเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตอยู่กับธรรมชาติ อันมีจุดมุ่งหมายพื้นฐานอยู่ที่การประสาน 2 สิ่งของธรรมชาติที่เป็นคู่ตรงข้ามกันอย่าง หยิน-หยาง สรรพสิ่งบนโลกใบนี้จะต้องมีสิ่งที่คู่กันเสมอ มีเกิดย่อมมีดับ มีมืดย่อมมีสว่าง นิกายเซน ซึ่งมุ่งเน้นการฝึกตนด้วยการนั่งสมาธิจนรู้แจ้ง เซนถือเป็นพุทธปรัชญาที่ชาวญี่ปุ่นน้อมนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันไม่น้อย เห็นได้ชัดจากพิธีชงชาหรือศิลปะการจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่นเป็นต้น ศาสนาพุทธเป็นคำสอนที่ชี้ทางให้เหล่านักรบเข้าใจในกฎของธรรมชาติ มองเห็นความเป็นจริงในชีวิตว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องเจอ ซามูไรที่ปฏิบัติตามหลักบูชิโด จึงไม่เกรงกลัวกับอันตรายและความตายใดๆ หากความตายนั้นจะเป็นไปเพื่อรักษาแผ่นดินและองค์จักรพรรดิที่พวกเขาเคารพยิ่งชีพ ศาสนาชินโต สอนให้เชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของธรรมชาติและความรักต่อสิ่งมีชีวิต บ่มเพาะให้นักรบรักชาติ จงรักภักดีกับเจ้านาย บูชาบรรพบุรุษ และเคารพนับถือจักรพรรดิดั่งเทพเจ้า และลัทธิขงจื๊อ มุ่งเน้นสอนสั่งในคุณธรรมที่ควรยึดถือปฏิบัติเรื่อง ความเป็นธรรม การมีเมตตา และคุณธรรม


ที่มาภาพ : https://www.unlockmen.com/bushido/

คุณสมบัติสำคัญ 8 ประการ ของบูชิโดที่ซามูไรต้องยึดถือปฏิบัติ
1.      ความยุติธรรม การที่จะเป็นซามูไรที่ดีได้นั้น หากลำเอียงเรื่องพวกพ้องมากกว่าความถูกต้อง ถือเป็นเรื่องเสียเกียรติ
2.      ความกล้าหาญ ซามูไรห้ามอ่อนแอ หากอ่อนแอก็ไม่สามารถสู้รบปรบมือกับคนอื่นได้ ในชีวิตก็เช่นกันหากไม่มีความกล้าหาญก็จะตกเป็นเหยื่อให้ผู้อื่นกดขี่หรือรังแก
3.      ความเมตตากรุณา แม้จะกล้าหาญเด็ดเดี่ยวแค่ไหน ความเมตตากรุณาย่อมเป็นสิ่งสำคัญ อย่างน้อยก็ต้องรักและเห็นใจเพื่อนมนุษย์คนอื่นด้วย
4.      การนับถือซึ่งกันและกัน ทำให้ซามูไรเกิดความสามัคคี ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง เคารพในความคิดที่แตกต่าง
5.      ความซื่อสัตย์ ซามูไรจึงมีสัจจะวาจาเป็นศักดิ์ศรีแห่งตน ต้องไม่คดโกง ต้องซื่อสัตย์และจริงใจ
6.      ความมีเกียรติ ซามูไรต้องรักเกียรติและศักดิ์ศรีของตัวเอง ไม่ทำตัวอ่อนโอนจนใครเขาว่าเราไร้เกียรติที่ตนเองพึงมี
7.      ความจงรักภักดี จะต้องรำลึกบุญคุณเจ้านายอยู่เสมอและหาทางตอบแทนบุญคุณนั้นให้ได้ เพราะการตอบแทนหนี้บุญคุณถือว่าเป็นความดีสูงสุด พันธะหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับเจ้านายเป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่าครอบครัว และครอบครัวของซามูไรทุกคนจะต้องสนับสนุนการกระทำของพวกเขาจึงจะได้รับยกย่องจากสังคม
8.      การมีปัญญาและรอบรู้ การศึกษาเป็นการยกระดับใจของตนให้สูงขึ้น ความคิดที่เต็มไปด้วยการศึกษามักจะเป็นความคิดที่มีเล่ห์เหลี่ยมอยู่ไม่ว่าเวลาใดก็ตาม หากยังไม่เข้าใจในเรื่องใด จงปรึกษาผู้ที่มีสติปัญญาดีกว่า แล้วก็จะเป็นคนมีใจกว้างและไม่เป็นคนเห็นแก่ตัว
ที่มา : http://topicstock.pantip.com/chalermthai/topicstock/2011/01/A10159800/A10159800-0.jpg



การตายที่มีเกียรติของซามูไรคือ การทำฮาราคิริ หรือการคว้านท้อง ซึ่งเป็นการแสดงความกล้าหาญอย่างสูงที่จะต้องเผชิญกับความเจ็บปวด บูชิโดจึงสอนแนวทางในการใช้ชีวิตของซามูไรทุกคนให้ดำรงอยู่ด้วยความสงบเยือกเย็น มีปัญญา ซามูไรทุกคนสมควรต้องเก็บทุกอารมณ์ความรู้สึก ไม่ว่าจะรัก โกรธ เจ็บปวด ไว้ภายใต้ใบหน้าที่สงบนิ่งเรียบเฉย แสดงออกมาได้แต่ความเข้มแข็งและกล้าหาญตามวิถีนักรบเท่านั้น

ลักษณะพิเศษของชาวญี่ปุ่นที่ได้รับอิทธิพลจากลัทธิบูชิโด คือการสอนให้เป็นคนมีความกล้าหาญ มีความรักชาติ รักครอบครัวและเคารพต่อบรรพบุรุษ  เป็นการสอนให้คนญี่ปุ่นมีความพยายามทำสิ่งต่างๆ ด้วยความชั่งใจอันเด็ดเดี่ยว อะไรควรทำก่อนอะไรควรทำทีหลัง เมื่อได้ทำการใดๆ ลงไปแล้วก็ต้องทำจริงๆ จนกว่าจะสำเร็จ สิ่งใดที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติก็ยอมอุทิศชีวิตเพื่อสิ่งนั้น การถ่ายทอดแนวทางปฏิบัติบูชิโดไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร หากแต่เป็นการปลูกฝังและสั่งสมสืบต่อกันมาทางสายเลือดนักรบซามูไรจากรุ่นสู่รุ่น วิถีนักรบบูชิโดและจิตวิญญาณของซามูไรจึงมีอิทธิพลอย่างกว้างขวางทั่วทั้งญี่ปุ่น ทั้งยังเป็นบทพิสูจน์ว่า บูชิโดไม่ได้สิ้นสุดลงไปพร้อมกับการล่มสลายของซามูไร เรายังคงพบหลักคำสอนของบูชิโดที่หยั่งรากลึกอยู่ในการดำเนินชีวิตประจำวันของชาวญี่ปุ่นทุกเพศทุกวัย ในศิลปะสมัยใหม่ของญี่ปุ่น รวมถึงการทำธุรกิจของบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นแทบทุกบริษัทด้วย

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน เช่น ภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นอยู่ในฐานะผู้พ่ายแพ้แก่สงคราม ประเทศชาติเฉียดเข้าใกล้ความล่มสลายและในช่วงเวลานี้เองที่ชาวญี่ปุ่นได้ก้าวผ่านเวลาแห่งความย่ำแย่ด้วยการปฏิบัติตามวิถีบูชิโดอย่างเข้มข้น ก่อเกิดนักรบบูชิโดยุคกู้ชาติเป็นนักรบธุรกิจ ที่ปรับเอาหลักปฏิบัติบูชิโดมาใช้ในการก่อร่างสร้างธุรกิจให้มั่นคงด้วยการทำงานหนักหามรุ่งหามค่ำเพื่อสร้างชาติขึ้นใหม่ โดยนักรบธุรกิจทุกคนจะยึดถือในศักดิ์ศรีและความซื่อสัตย์อย่างที่สุด ความแข็งขันและความร่วมมือของคนทั้งชาติด้วยจิตวิญญาณซามูไรในครั้งนั้นสามารถช่วยฟื้นฟูประเทศอย่างรวดเร็ว ให้ประเทศญี่ปุ่นกลับมาผงาดอีกครั้งในฐานะประเทศทรงอำนาจที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้อย่างภูมิใจ

นักรบธุรกิจชาวญี่ปุ่นอาจจะเพียงแค่วางดาบ เอาอาวุธและเอาเสื้อเกราะของซามูไรออก แล้วแทนที่ด้วย คอมพิวเตอร์ ต่อสู้กันผ่านกลยุทธ์การตลาด ผลิตภัณฑ์ ไอเดียทำธุรกิจหรือการให้บริการ ซึ่งนั่นเป็นช่วงเวลาของการแข่งขัน แต่ในยามที่ว่างเว้นจากการศึกการรบ เหล่าซามูไรก็ไม่เคยหยุดนิ่ง ใช้เวลานั้นฝึกฝนวิชายุทธ์ ดูแลรักษาสุขภาพกาย ใจ เพื่อให้พร้อมสำหรับการต่อสู้ครั้งต่อไปอยู่ตลอดเวลา เช่นกันกับการทำธุรกิจ เมื่อว่างเว้นจากการแข่งขันก็เป็นเวลาของการศึกษา เตรียมพร้อมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ คิดค้นผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมใหม่เพื่อตีตลาด สร้างความพึงพอใจให้ลูกค้าและมีชัยเหนือคู่แข่ง 

หรือแม้แต่ความเสียหายอันเนื่องมาจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิครั้งใหญ่ เรายังคงจดจำ รู้สึกความหดหู่ และสะเทือนใจที่ชาวญี่ปุ่นผู้รอดชีวิตจากมหันตภัยต้องเสียขวัญและเผชิญกับความลำบากยากแค้นแสนสาหัส หากแต่ภาพที่ชาวโลกได้เห็น คือการก้มหน้ายอมรับสภาวะวิกฤตโดยไม่แสดงอาการตื่นตระหนก ไม่แสดงความอ่อนแอ ไม่แม้แต่จะกล่าวโทษธรรมชาติหรือโชคชะตา ในทางกลับกัน ผู้ประสบภัยชาวญี่ปุ่นได้ฉายภาพของความเอื้ออาทร ช่วยเหลือกัน ไม่มีภาพการแย่งซื้อข้าวของหรือรับของบริจาคให้เห็น มีแต่ภาพของผู้ประสบภัยที่เข้าแถวอย่างเป็นระเบียบเพื่อรอรับของบริจาคและซื้อข้าวของจำเป็นในการดำรงชีวิตแค่พอใช้ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ชาวญี่ปุ่นแสดงให้โลกเห็นว่า การรับมือกับปัญหาด้วยหลักปฏิบัติบูชิโดนั้น ทำให้พวกเขารอดพ้นและก้าวผ่านวิกฤตกระทั่งสามารถฟื้นฟูเมืองได้ในเวลาอันรวดเร็ว

ในยุคดิจิทอลการทำธุรกิจดำเนินไปได้แค่เพียงปลายนิ้วสัมผัสเท่านั้น นักรบธุรกิจชาวญี่ปุ่น ก็ยังคงยึดถือและปฏิบัติตามหลักบูชิโด ด้วยจิตวิญญาณแห่งซามูไรอย่างเคร่งครัด และสิ่งนี้นี่เองที่ทำให้องค์กรธุรกิจญี่ปุ่นยังคงรักษาพื้นที่ได้อยู่ในแถวหน้าที่ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจโลกให้ดำเนินไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน



ที่บทความ :  
https://www.unlockmen.com/bushido/

http://japanfavor.blogspot.com/2014/05/bushido.html?m=1

วันจันทร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2561

วิถีเซน ในสังคมญี่ปุ่น



ต้นตอของเซ็นว่ากันว่าเริ่มต้นเมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เขาคิชฌกูฏ วันหนึ่งท่านแสดงธรรมโดยชูดอกบัวขึ้นดอกเดียวและนิ่งเฉยไม่พูดอะไรต่อ ตอนนั้นยังไม่มีใครเข้าใจธรรมะที่พระองค์แสดง มีแต่พระมหากัสสะปะที่ยิ้มออกมาน้อยๆ ด้วยความเข้าใจในพระธรรมเทศนาอันปราศจากถ้อยคำนั้น เซ็นคือการแสดงความจริงโดยที่ไม่ต้องผ่านคำพูด เพราะเซ็นเชื่อว่าคำพูดก็คือมายา ทันทีที่เราอธิบายความจริงด้วยคำพูดก็เท่ากับว่าเราเพี้ยนไปจากความจริงแล้ว  เซ็นไม่ใช่การศึกษาพระสูตรหรือตำรา เราต้องเข้าถึงคำสอนของพระพุทธองค์ผ่านทางชีวิตประจำวัน เช่น การทำกับข้าว การทำความสะอาดบ้านหรือการทำงานในออฟฟิต เราก็สามารถเข้าถึงเซ็นด้วยการงานเหล่านั้น นี่คือวิธีการแบบเซ็นซึ่งเน้นไปยังสิ่งที่เราสัมผัสอยู่จริงๆ และนำหลักการไปประยุกต์เพื่อเจริญสติในชีวิตประจำวันให้ได้


สวนเซน


จริงๆแล้วตัวเราก็คือพุทธะ ดังนั้นจุดมุ่งหมายของเซนจึงเป็นการตระหนักรู้ในพุทธภาวะ การบรรลุธรรมในแบบเซ็นจะเรียกว่า ซาโตริ เมื่อบรรลุแล้วก็จะเข้าสู่ความหลุดพ้น ทุกสิ่งกลายเป็นความว่าง การไม่ยึดติดในรูปแบบพิธีกรรมหรือแม้แต่พระไตรปิฎก เซ็นถือว่าการบรรลุมรรคผลนั้นไม่ได้อยู่ที่ตัวบทอักษรหรือคัมภีร์ เพราะตัวอักษรหรือภาษามีข้อจำกัด ไม่สามารถอธิบายความเป็นจริงทั้งหมดได้ เซ็นจึงเป็นนิกายที่ส่งผ่านปรัชญาการดำเนินชีวิตที่นำไปใช้ได้จริงสู่ผู้ปฏิบัติอย่างถึงแก่นและเป็นธรรมชาติ เพื่อให้เห็นสัจจธรรมด้วยตนเอง เซ็นจึงเป็นธรรมชาติที่อยู่รอบๆตัวเรา 
สิ่งที่สำคัญของเซ็นก็คือโกอัน ซึ่งหมายถึงคำถามที่ยอกย้อนเป็นปริศนาธรรม เราไม่สามารถตีความปริศนาเหล่านี้ด้วยตรรกะเหตุผลได้ ตรรกะมักอยู่บนพื้นฐานของแม่แบบที่ตายตัว เรามองโลกด้วยการจัดกลุ่มและตีตราสรรพสิ่งล่วงหน้า ซึ่งโกอันทำลายแผนแบบตรรกะทั้งหมดและบีบให้เราพยายามไขปริศนาด้วยหนทางอื่น เพื่อทำลายแม่แบบเกี่ยวกับความจริงในความของเรา


พระเซน


ยกตัวอย่างเช่น ดอกบัว ถ้าเป็นนักวิทยาศาสตร์อาจจะนึกถึงชนิดพันธุ์หรือถิ่นกำเนิดของมัน ศิลปินก็อาจจะนึกถึงความงามหรือสีสันและแสงเงาของดอกบัว  แต่เซ็นจะเห็นว่าความคิดทั้งหมดเป็นสิ่งปรุงแต่ง เป็นมายา แม้คำว่าดอกบัวก็เป็นเรื่องสมมติที่คนเพียงกลุ่มหนึ่งตกลงกันเท่านั้น ต่อเมื่อโยนความคิดทั้งหมดทิ้งไป ธรรมชาติที่แท้จริงของสิ่งนั้นจึงจะปรากฏขึ้น นั่นอาจหมายความว่ายิ่งเราพยายามสร้างสิ่งคำอธิบายเกี่ยวกับความจริงให้ยืดยาวเท่าไหร่ เราก็ยิ่งพลาดจากความจริงไปไกล  เซ็นจึงเป็นสิ่งที่อธิบายด้วยภาษาไม่ได้ ถ้าใช้ภาษาอธิบายก็จะกลายเป็นการโกหก ทุกอย่างในชีวิตเป็นเซ็น ไม่ว่านั่ง นอน ทานข้าว ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเซน  การปฏิเสธความคิดหรือคำอธิบายความจริงทั้งหมด ทำให้เซนปฏิเสธความคิดพื้นฐานของคนเราที่มักแบ่งสรรพสิ่งออกเป็นสองขั้ว ทุกครั้งที่คิดเราแบ่งสรรพสิ่งออกเป็นตัวฉันกับโลกภายนอก บนล่าง ซ้ายขวาหรือแม้แต่การเกิดการตาย เซ็นจะบอกว่าการแบ่งสรรพสิ่งออกเป็นคู่ตรงข้ามเป็นเพียงมายาของความคิด ธรรมชาติที่แท้ปราศจากความคิดปรุงแต่ง ไร้นิยามและไร้การแบ่งแยก

นิกายเซนได้สร้างคุณูปการต่อการสร้างปรัชญาญี่ปุ่น โดยการสอดแทรกผ่านทางวัฒนธรรม ศิลปะ และวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่น ยกตัวอย่างเช่น 
การรำดาบเค็มบุ

   การรำดาบญี่ปุ่นเค็มบุ ในสมัยโบราณซามูไรใช้การร่ายรำเพื่อปลุกใจให้ห้าวหาญและเพื่อจิตใจสงบเป็นสมาธิ  คนทั่วไปมักคิดว่าชีวิตที่เต็มไปด้วยการรบราฆ่าฟันของซามูไรไม่น่าจะมีอะไรที่เกี่ยวข้องกับศาสนา แต่ความจริงแล้วมิติทางจิตวิญญาณถือเป็นแก่นของวิถีซามูไร เพราะซามูไรต้องผ่านการฝึกฝนทางจิตวิญญาณอย่างเข้มข้นจนมองเห็นชีวิตและความตายเป็นเพียงหนึ่ง ไม่ใช่ขั้วตรงข้ามที่แยกขาดจากกัน จิตใจที่ผ่านการเคี่ยวกร่ำเช่นนี้ย่อมไม่ลังเลเมื่อก้าวเท้าออกสู่สรภูมิรบ จิตใจต้องว่าเปล่าซึ่งที่จริงแล้วหมายถึงอัตตา เพราะเมื่อเราพยายามเห็นสรรพสิ่งรอบตัวแล้วพยายามคิดปิดกั้นไม่ให้จิตคิดถึงสิ่งเหล่านั้น นั่นหมายถึงจิตเรากำลังเข้าไปยึดติดโดยมายาอยู่โดยไม่รู้ตัว อัตตาตัวตนย่อมปรากฏอยู่ตรงนั้น นี่ย่อมแตกต่างจากการรับรู้สรรพสิ่งตามที่มันเป็น 
ในขณะที่ซามูไรกำลังต่อสู้กับศัตรู จิตของเขาจะต้องรับรู้สรรพสิ่งตามที่มันเป็นเพื่อให้ปฏิกิริยาตอบสนองต่อการจู่โจมของศัตรูเป็นไปอย่างรวดเร็วที่สุด หากจิตหลงทางอยู่ในมายาใดๆ นั่นหมายถึงความพ่ายแพ้ อัตตาคือรับรู้ทุกอย่างตามสิ่งที่เป็น ณ วินาทีที่ดาบของศัตรูฟันลงมา จิตต้องว่างจากความคิดทั้งหมด ไม่คิดคาดการล่วงหน้าว่าคู่ต่อสู้จะใช้กระบวนการท่าไหน เราจะตั้งรับยังไง แต่ให้อยู่กับปัจจุบันและความจริงตรงหน้าเพียงอย่างเดียว เพราะวิธีนี้เท่านั้นที่การตั้งรับของเราจะฉับไวและมีประสิทธิภาพสูงสุด


ศิลปะการชงชา


พิธีชงชา ซึ่งรากฐานของพิธีชงชาก็มีรากฐานมาจากเซ็น ในสังคมตะวันตกอาจจะมองว่าการดื่มชาเป็นช่วงเวลาผ่อนคลายหรือกิจกรรมสำหรับคนที่มีความหรูราในชีวิต แต่สำหรับคนญี่ปุ่น การดื่มชาถือว่าเป็นศิลปะในการดำเนินชีวิต พิธีชงชาจึงเป็นพิธีที่ค่อนข้างสงบ เงียบและเรียบง่าย เพราะว่าทุกกิจกรรมที่ทำในห้องชงชาจะดำเนินไปอย่างเนิบช้า ให้ความใส่ใจในทุกๆสิ่งที่อยู่ในห้องแห่งนั้น พอเราให้ความสำคัญกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าก็เท่ากับว่าเราได้อยู่กับปัจจุบัน พอเรามองเห็นสิ่งสำคัญของสิ่งต่างๆในช่วงเวลานั้น เรามักจะลืมความสำคัญของตัวเองไป ซึ่งนั่นก็เป็นวิธีหนึ่งในการลดอัตตาของตัวเองลง

    จากการศึกษาก่อนเริ่มพิธีชงชาของชาวญี่ปุ่นจะสังเกตได้ว่า ซุ้มประตูทางเข้าบ้าน เกือบทุกแห่งของบ้านจะมีซุ้มประตูที่ตั้งใจทำให้เตี้ย เพราะไม่ว่าจะมียศถาบรรดาศักดิ์สูงแค่ไหน ซามูไร โชกุนหรือว่าคนธรรมดาทั่วไป แขกผู้มาเยือนบ้านของชาวญี่ปุ่นก็ต้องลดตัวเองลงเพื่อที่จะมุดลอดซุ้มประตูนี้ไป ซึ่งนี่ก็เป็นสัญลักษณ์ของการรู้จักถ่อมตัวและลดอัตตาตัวเองลงเพื่อที่จะเข้าสู่พิธีชงชา  แขกผู้ที่มาจะต้องเอากระบวยตักน้ำล้างมือทั้งสองข้างหลังจากนั้นก็ล้างปาก เป็นการชำระร่างกายและจิตใจของตนเองให้สะอาดก่อนจะประกอบพิธีกรรมศักสิทธิ์ 
กิจกรรมในห้องชงชาจะเป็นไปอย่างเนิบช้ามาก มีการชี้ชวนให้พินิจพิจารณาชื่นชมความงามของห้องชงชาที่มีแสงสลัว แจกันหรือดอกไม้ที่ประดับไว้ แม้กระทั่งการชื่นชมด้วยหูนั่นคือการฟังเสียงน้ำเดือดที่อาจเปรียบเสมือนลมกำลังพัดผ่านใบสน ทุกท่วงท่าของการชงชาเต็มไปด้วยสติและความใส่ใจ พิธีชงชาเป็นการหลอมรวมศิลปะทุกประเภทเข้าด้วยกัน ถือเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง เราอาจจะไม่ต้องการกิจกรรมอะไรมากมายก็ได้แต่ว่าเราต้องใส่ใจกับสิ่งต่างๆที่เราทำอยู่ในตอนนั้น พอเราใส่ใจเราก็จะเห็นความสำคัญของสิ่งที่เราทำและเมื่อเราเห็นความสำคัญต่อสิ่งที่เราทำ เราก็น่าจะเห็นความสำคัญของตัวชีวิตเองด้วยเหมือนกัน
ศิลปะการจัดดอกไม้: อิเคบานะ



การจัดดอกไม้หรืออิเคบานะ  ถือเป็นความสวยงามแบบเฉพาะของชาวญี่ปุ่น จากการศึกษาเมื่อสังเกตดูมันคือความงามที่ค่อนข้างเลียนแบบธรรมชาติหรืออาจจะเป็นธรรมชาติจริงๆ การเลือกภาชนะที่เหมาะสมและดูความงามของดอกไม้ อิเคบานะจึงแสดงให้เห็นว่าชาวญี่ปุ่นนั้นเป็นคนละเอียดอ่อน คนละเอียดอ่อนมักจะสัมผัสความงามอะไรบางอย่างที่คนไม่ละเอียดอ่อนสัมผัสไม่ได้ ชาวญี่ปุ่นจึงรักดอกไม้ รักต้นไม้ เวลามองจึงเห็นความงามในธรรมชาติของมัน  เหมือนกับว่าการจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่นไม่ใช่การที่เราจัดดอกไม้แล้วมันเป็นคาแรกเตอร์ของเรา แต่ว่ามันคือการที่ดอกไม้ยืมมือเราเพื่อที่จะจัดมันให้เสร็จสรรพ์ ไม่มีตัวเราอยู่ในนั้น วิธีคิดนี้จึงเป็นวิธีที่คิดถึงดอกไม้มากกว่าตัวเราเอง การจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่นจึงเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง คือไม่มีอัตตาในผลงานแต่เป็นเพียงแค่ดอกไม้ถูกจัดผ่านตัวเราไปแค่นั้นเอง 


มัทซึโอะ บาโช : นักแต่งกวีไฮกุ


การแต่งบทกวีไฮกุ ตัวอย่างเช่นบทกวีของบาโช แม้ในกลางหิมะ ดอกไม้ยามเที่ยงวันไม่โรยรา ใต้แสงอาทิตย์ ถ้าเราอ่านตามตรงก็เหมือนกับการบรรยายภาพๆหนึ่งให้เราเห็นเท่านั้นเอง นั่นถืออาจจะเป็นเซนแบบหนึ่งก็คือ เป็นงานศิลปะที่ไม่ได้เอาตัวเราหรือความคิดของเราพยายามใส่เข้าไปในธรรมชาติ โดยบาโชจะให้ความสำคัญกับการเกิดขึ้นอย่างฉับพลันของบทกวีไฮกุ ถ้ามีสรรพสิ่งเกิดขึ้นในทันทีก็จะรีบเขียนไว้และหลังจากที่เขียนก็ไม่ควรจะไปยุ่งกับมันอีกเลย คล้ายๆกับการเขียนพู่กันญี่ปุ่น ถ้าเราตวัดไปแล้วครั้งหนึ่งก็ไม่มีการไปแก้ไขอะไรอีกเลย และคล้ายกับการจัดดอกไม้ที่ให้ความจริงไหลผ่านตัวเองซึ่งในช่วงเวลานั้น เราอาจจะไม่ได้เป็นตัวเราแต่เป็นธรรมชาติหนึ่งที่ผ่านมือเขาไปและก็ออกมาโดยที่ไม่ได้ผ่านความคิดของเรา 

ทั้งหมดนี้อาจเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นว่าชาวญี่ปุ่นให้ความเคารพว่า ธรรมชาตินั้นเป็นสิ่งสูงส่ง สังคมญี่ปุ่นจึงเป็นสังคมที่คนลดทอนตัวเองลง ให้ความสำคัญกับตัวเองน้อยและให้ความสำคัญกับธรรมชาติมากกว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือสติและการเอาใจใส่ทุกอย่างในชีวิตประจำวัน ดำเนินชีวิตที่ปกติไปเรื่อยๆ วิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นในปัจจุบันกับศาสนาพุทธมหายานนิกายเซน อาจไม่เป็นที่แน่นอนว่าจริงๆแล้ว เซนจะยังคงปรากฏให้เห็นในการดำเนินชีวิตของชาวญี่ปุ่นจริงหรือไม่ หรืออาจจะยังคงสอดแทรกผ่านนิสัยหรือรสนิยมของคนญี่ปุ่นอยู่ เพราะเซนไม่สามารถอธิบายได้ด้วยคำพูด



ขอบคุณเครดิตภาพ
ที่มาบทความ : Dek-southeast Asia


วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ชินโต กับ ลัทธิชาตินิยมในญี่ปุ่น


โทริ สัญลักษณ์ศาสนาชินโต 

ก่อนหน้าที่ประเทศญี่ปุ่นจะเข้าสู่ยุคสงครามโลก ศาสนาชินโตก่อเกิดจากขนบธรรมเนียมประเพณีที่สืบทอดกันมาเรื่อยๆของชาวญี่ปุ่น ซึ่งเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องเทพเจ้าหรือคามิ ดังนั้นศาสนาชินโตจึงไม่มีคำสอนที่แนบแน่น ไม่มีคัมภีร์ที่ตายตัวเพราะแต่ละท้องถิ่นมีความเชื่อที่แตกต่างกันออกไป ชินโต หมายถึงทางของเทพเจ้า ด้วยเหตุนี้คนญี่ปุ่นจึงมีความเชื่อว่าประชาชนควรดำเนินชีวิตไปตามครรลองของการพร่ำสอนในเทพเจ้า

ความเชื่อแบบชินโตเน้นไปที่การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ เพราะในธรรมชาติทุกแห่งล้วนแล้วแต่มีเทพเจ้าสิงสถิตอยู่ คล้ายๆ กับความเชื่อของศาสนาดั้งเดิม animism ดังนั้นในความเชื่อของชินโต ทุกแห่งและทุกสิ่งล้วนมีวิญญาณอยู่ ชินโตจึงให้ความเคารพต่อต้นไม้ใหญ่ หินใหญ่ ไล่ไปจนกระทั่งเม็ดข้าวหรือเตาไฟ เป็นที่น่าสังเกตว่าศาลเจ้าชินโตจึงอยู่คู่กับต้นไม้ใหญ่เสมอ และไม่น่าแปลกใจเลยว่าชินโตก็มีบทบาทในการรักษาธรรมชาติเช่นกัน

อาจเป็นไปได้ว่าบ่อเกิดแห่งลัทธิชาตินิยมของชาวญี่ปุ่นอาจเริ่มตั้งแต่ความเชื่อเรื่องการกำเนิดเกาะญี่ปุ่น ตามตำนานโคจิกิและนิฮงโชกิ กล่าวถึงเทพเจ้า 2 องค์คือ อิซานากิและอิซานามิซึ่งได้รับมอบหมายให้มาสร้างเกาะญี่ปุ่น เทพอิซานากิได้ใช้หอกรัตนะกวนน้ำในมหาสมุทร เมื่อยกหอกขึ้นน้ำหยดหนึ่งที่ไหลจากหอกนั้นหยดลงทะเลกลายเป็นเกาะโอโนโกโซ ซึ่งเป็นเกาะหนึ่งของประเทศญี่ปุ่นและสร้างเกาะอื่นๆ ตามมา นอกจากนี้เทพทั้งสองจึงได้สร้างทวยเทพที่อยู่ในทุกภาคพื้นไม่ว่าจะเป็นป่าเขาลำเนาไพร ท้องฟ้าหรือทะเลขึ้น ทั้งยังสร้างมนุษย์และได้ส่ง จิมมู เทนโด จักรพรรดิองค์แรกของญี่ปุ่นเข้ามาปกครองผู้ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากสุริยเทพหรือพระอาทิตย์ 

ดังนั้นประเทศญี่ปุ่นจะต้องถูกครอบครองโดยจักรพรรดิผู้สืบเชื้อสายจากสวรรค์ไปชั่วนิรันดร์และจักรพรรดิเป็นผู้สูงศักดิ์ไม่มีใครทัดเทียมได้ ชินโตจึงส่งเสริมให้ชาวญี่ปุ่นรักชาติ รักความกล้าหาญและจงรักภักดีต่อราชบัลลังค์ แม้ชีวิตก็เสียสละได้ และต้องเชื่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นให้ถือเท่ากับบัญชาสวรรค์ อาจกล่าวได้ว่าเป็นความรู้สึกชาตินิยมที่เป็นความภาคภูมิใจในเผ่าพันธุ์และความความเก่าแก่ของชนชาติ เพราะมีอ้างถึงการสืบเชื้อสายจากเทพเจ้าของผู้ปกครอง ซึ่งต่อมากลายเป็นความเชื่อที่ได้รับการปลูกฝังในหมู่ชาวญี่ปุ่นว่าเป็นชนชาติที่พิเศษ

ต่อมาลัทธิชินโตกลายเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมในการแผ่ขยายอำนาจไปยังประเทศอื่น มีการส่งพลทหารออกไปรุกรานชาติอื่นโดยอาศัยความเชื่อว่ากำลังปกป้องจักรพรรดิซึ่งสืบสายมาจากเทพเจ้าผู้ก่อตั้งประเทศโดยตรง เมื่อครั้งที่ญี่ปุ่นชนะรัสเซียในสงครามโลกครั้งที่ 1 ยิ่งทำให้ชาวญี่ปุ่นเป็นชาตินิยมจัดมากขึ้น ซ้ำยังฮึกเหิมมากและเป็นอย่างนี้ตลอดจนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามอย่างยับเยินด้วยระเบิดปรมาณูลูกใหญ่ของอเมริกาที่นางาซากิและฮิโรชิมา  จักรพรรดิฮิโรฮิโตประกาศว่าตนเองก็เป็นแค่มนุษย์ธรรมดา มิใช่เทพอะไรและชินโตก็ถูกบังคับให้หมดสภาพการเป็นศาสนาประจำชาติของญี่ปุ่น ถูกตัดงบสนับสนุน และญี่ปุ่นก็กลายเป็นรัฐฆราวาสไป แต่มันก็ทำให้ชินโตได้กลับสู่รากเหง้าที่แท้จริงของการเคารพธรรมชาติ โดยไม่จำเป็นต้องมีคำสอนหรือสิ่งก่อสร้างใหม่ๆ ที่อลังการโดยไม่จำเป็น  

ภายหลังสงครามสิ้นสุดลง ศาสนาชินโตมีความสำคัญน้อยลงเนื่องด้วยอิทธิพลศาสนาอื่น ผู้นำญี่ปุ่นเห็นถึงความสำคัญของการเรียนรู้จากชาติอื่น โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศกำลังอยู่ในภาวะต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ทำให้ผู้นำญี่ปุ่นที่แม้จะมีความคิดแตกต่างกัน แต่มีความรักชาติเหมือนกันมีอุดมการณ์ไปในทางเดียวกันคือ อุดมการณ์รักชาติและความสำนึกในชาติโดยมีจักรพรรดิเป็นศูนย์กลาง ยอมรับวิธีการพัฒนาประเทศตามแนวทางของตะวันตกทั้งในด้านการทหารและอุตสาหกรรม ปัจจุบันญี่ปุ่นได้กลายเป็นประเทศที่พัฒนาในระดับสากล

ข้อดีของลัทธิชินโตทำให้คนญี่ปุ่นมีลักษณะพิเศษคือ การบูชาบรรพบุรุษ รักธรรมชาติ รักความสะอาด และรักชาติ จะเห็นได้ว่าชาวญี่ปุ่นมีความผูกพันธ์กับทุกสิ่ง ชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าคนตายแล้วแต่วิญญาณยังไม่ได้ตายด้วยเพราะวิญญาณนั้นเป็นอมตะ วิญญาณจะสถิตอยู่ในโลกของวิญญาณตลอดไปไม่ไปไหน คอยคุ้มครองและดลบันดาลให้ผู้เซ่นไหว้มีความสำเร็จดังปรารถนา  ในเรื่องของการรักธรรมชาติ ศาสนาชินโตส่งเสริมให้ชาวญี่ปุ่นเป็นคนรักธรรมชาติอย่างลึกซึ้งและยังถือธรรมชาติเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แม้แต่ตัวชาวญี่ปุ่นเองก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติไม่แบ่งแยก ยกตัวอย่างเช่น เมื่อยามซากุระบานผู้คนจะพากันออกมาเที่ยวชมความงามของซากุระ คอยนั่งมองซากุระและกิ่งก้านที่แกว่งไหวไปมาตามสายลม ความรู้สึกรักในธรรมชาติจึงทำให้ชาวญี่ปุ่นรักความงดงามด้วย การรักความสะอาด ศาสนาชินโตในตำนานแม้แต่เทพอิซานากิก็ยังชำระร่างกายให้สะอาดอยู่เสมอ ชาวญี่ปุ่นจึงรักความสะอาดมาก พยายามชำระร่างกายทั้งภายในและภายนอกให้สะอาดอยู่เสมอเพื่อเป็นการบูชาเทพเจ้า อาจจะสังเกตได้ว่าเมื่อชาวญี่ปุ่นไปศาลเจ้า ก่อนจะเข้าไปต้องชำระล้างมือล้างปากเสียก่อน เพราะความสะอาดกายถือเป็นสัญลักษณ์ของความสะอาดใจด้วย ในส่วนของความรักชาติ ด้วยความภาคภูมิใจในแนวคิดต่อพระเจ้าจักรพรรดิว่าเป็นเชื้อสายโดยตรงจากพระอาทิตย์ เป็นเผ่าพันธุ์ของเทพเจ้าไม่ใช่มนุษย์ธรรมดา ดังนั้นชาวญี่ปุ่นจึงรักชาติมาก พยายามสร้างความเจริญให้แก่ประเทศชาติ และพยายามถนอมชาติของตนไว้อย่างดี


แต่ในขณะเดียวกันด้วยการที่คนญี่ปุ่นเป็นคนรักชาติ รักบรรพบุรุษของตนอย่างยิ่ง ทำให้ศาสนาชินโตกลายเป็นบ่อเกิดลัทธิชาตินิยมดังที่เห็นได้จากสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะศาสนาชินโตยกย่องความกล้าหาญ ให้กล้าหาญที่จะมีชีวิตอยู่และไม่กลัวตาย เมื่อเป็นเช่นนี้ความขี้ขลาดซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับความกล้าหาญจึงถือเป็นความชั่วและความขี้ขลาดถือว่าเป็นบาปใหญ่ ชินโตให้คุณค่าเรื่องการเคารพและซึื่อสัตย์ภักดีต่อบรรพบุรุษ จักรพรรดิ ชาติ ความกล้าหาญ ไม่กลัวตาย ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้เกิดลัทธิหรือแนววัฒนธรรมหนึ่งขึ้นมาในสังคมญี่ปุ่นเรียกว่า ลัทธิบูชิโด ซึ่งเป็นวินัยของนักรบในกลุ่มชาวญี่ปุ่น

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ศาสนาชินโตอาจฝังรากลึกด้านแนวคิดและจริยธรรมแก่คนญี่ปุ่นมากมาย ซึ่งแท้จริงแล้วเป้าหมายของชินโตอาจจะเป็นการสร้างความปรองดอง ความสามัคคคีมากกว่าที่จะเป็นการแข่งขันและแบ่งแยกกัน





ที่มาภาพ : https://www.kalyanamitra.org/th/article_detail.php?i=12604

ที่มาบทความ : Dek-Southeast Asia