หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2562

พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. 2559




ศิลปะการแสดงโขนไทย
ที่มาภาพ : เพจ ASEAN มอง ไทย

มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอันหลากหลายและทรงคุณค่าของชนชาติไทยเหล่านี้ ล้วนกำเนิดขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์และองค์ความรู้ของบรรพบุรุษ โดยได้มีการพัฒนา สั่งสม ปรับประยุกต์ไปตามกาลเวลา กระทั่งกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรม อันเป็นอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชน ซึ่งถูกสืบทอดมายังคนรุ่นหลังให้เกิดความภาคภูมิใจในความเป็นชาติไทย

ความหมายของ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. 2559 มาตรา 3 ให้ความหมายว่า ความรู้ การแสดงออก การประพฤติปฏิบัติ หรือทักษะทางวัฒนธรรมที่แสดงออกผ่านบุคคล เครื่องมือ หรือวัตถุ ซึ่งบุคคล กลุ่มบุคคล หรือชุมชนยอมรับและรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน และมีการสืบทอดกันมาจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่งโดยอาจมีการปรับเปลี่ยนเพื่อตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมของตน 

โขน
ที่มาภาพ : https://hilight.kapook.com/view/151099

 การประกาศขึ้นทะเบียนพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมมีความสำคัญต่อคนในสังคมและประเทศชาติ ดังนี้

1.       มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเป็นสมบัติล้ำค่าที่บรรพบุรุษได้มีการสร้างสรรค์และสืบทอดในชุมชนจากคนรุ่นหนึ่งมายังอีกรุ่นหนึ่ง จึงควรค่าแก่การรักษาไว้
2.       การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม รวมถึงกระแสการพัฒนาของโลก ได้ส่งผลให้มรดกทางวัฒนธรรมของไทยหลายอย่างกำลังจะสูญหายไป การประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ จึงเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้คนไทยภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของตนและช่วยกันปกป้องมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นและของชาติให้คงอยู่สืบไป
3.       การนำมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมไปใช้ในทางที่บิดเบือนไม่เหมาะสม เป็นสาเหตุให้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมต้องเสื่อมสูญไป ดังนั้นการประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติจึงเป็นส่วนสำคัญการปกป้องมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
4.       มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ช่วยสร้างอัตลักษณ์ของคนในชุมชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ ให้มีความเข้มแข็ง มีปฏิสัมพันธ์ และสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขบนพื้นฐานของวัฒนธรรมดั้งเดิมของแต่ละกลุ่มชน
5.       มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมช่วยในการอธิบายกำเนิดอัตลักษณ์ของกลุ่มชนและพิธีกรรมต่างๆ

ผ้าทอมือ
ที่มาภาพ :https://hilight.kapook.com/view/151099
เครื่องบูชาอย่างไทย
ที่มาภาพ : https://hilight.kapook.com/view/151099

ลักษณะของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ได้รับการส่งเสริมและรักษา ตามมาตรา
4 จะต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
1.       วรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา
2.       ศิลปะการแสดง
3.       แนวทางปฏิบัติทาสังคม พิธีกรรม ประเพณี และเทศกาล
4.       ความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล
5.       งานช่างฝีมือดั้งเดิม
6.       การเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้าน และศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว
7.       ลักษณะอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง




ชุดรดน้ำดำหัว
ที่มาภาพ : https://hilight.kapook.com/view/151099

มวยคาดเชือก
ที่มาภาพ : https://hilight.kapook.com/view/151099


ปี พ.ศ. 2552 กระทรวงวัฒนธรรมได้ขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเป็นปีแรก สำหรับในการประกาศใช้พระราชบัญญัติ ปี พ.ศ. 2559  กระทรวงวัฒนธรรมได้ดำเนินการผ่านการพิจารณากลั่นกรองตามหลักเกณฑ์ ซึ่ง คณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม มีอำนาจหน้าที่ พิจารณาให้ความเห็นชอบการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม กำกับ ติดตามและประเมินผลการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เพื่อคุ้มครอง ป้องกันไม่ให้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ขึ้นทะเบียนไว้เกิดความเสียหาย โดยมีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

ประเพณีสงกรานต์
ที่มาภาพ : https://hilight.kapook.com/view/151099

ตามมาตรา 5 คณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ  

ตามมาตรา 6 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ได้รับการแต่งตั้งจะต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสม ดังนี้

1.       ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยและอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์
2.       ไม่เป็นผู้ไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
3.       ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น กรรมการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งซึ่งรับผิดชอบการบริหารพรรคการเมือง ที่ปรึกษาพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่พรรคการเมือง
4.       ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถูกเลิกจ้างจากหน่วยงานของเอกชนเพราะทุจริตต่อหน้าที่
5.       ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี

หนังใหญ่
ที่มาภาพ : https://hilight.kapook.com/view/151099

การประกาศการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม นับเป็นหนทางหนึ่งในการปกป้องคุ้มครองและเป็นหลักฐานสำคัญของคนไทยที่ประกาศความเป็นเจ้าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ในขณะที่ยังไม่มีมาตรการทางกฎหมายที่จะคุ้มครองอย่างชัดเจน ซึ่งจำเป็นต้องมีการเสนอรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม จากชุมชนหรือแหล่งปฏิบัติที่มีการสืบทอดมาอย่างต่อเนื่อง กรมส่งเสริมวัฒนธรรมโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะพิจารณาข้อมูลที่มีการจัดเก็บและสำรวจจากท้องถิ่น และการพิจารณาคัดเลือกกลั่นกรองตามกระบวนการขั้นตอนและหลักเกณฑ์การพิจารณาขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

ประเพณีแห่เทียนพรรษา
ที่มาภาพ : https://hilight.kapook.com/view/151099

ทั้งนี้ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ได้รับการขึ้นทะเบียนของชาตินั้นเป็นทั้งรายการที่มีลักษณะเฉพาะในชุมชน ท้องถิ่น ที่เสี่ยงต่อการสูญหายใกล้ ขาดผู้สืบทอด หรือเป็นรายการที่ยังมีผู้สืบทอดและปฏิบัติอยู่ รวมทั้งรายการที่มีอัตลักษณ์ชัดเจนและมีการปฏิบัติสืบทอดโดยทั่วไปหรืออย่างกว้างขวาง  การส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมให้มีประสิทธิภาพ จึงต้องมีมาตรการทางกฎหมายเพื่อให้การทำงานมีความชัดเจนครอบคลุมไปสู่ระดับจังหวัด ระดับชาติ จนถึงระดับนานาชาติ เพื่อช่วยกันรักษาสืบทอดให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมเพื่ออนุชนรุ่นหลังจะได้นำมาศึกษาเรียนรู้ต่อไป





บทความโดย :
Dek-South East Asia


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น