หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2561

วิถีเซน ในสังคมญี่ปุ่น



ต้นตอของเซ็นว่ากันว่าเริ่มต้นเมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เขาคิชฌกูฏ วันหนึ่งท่านแสดงธรรมโดยชูดอกบัวขึ้นดอกเดียวและนิ่งเฉยไม่พูดอะไรต่อ ตอนนั้นยังไม่มีใครเข้าใจธรรมะที่พระองค์แสดง มีแต่พระมหากัสสะปะที่ยิ้มออกมาน้อยๆ ด้วยความเข้าใจในพระธรรมเทศนาอันปราศจากถ้อยคำนั้น เซ็นคือการแสดงความจริงโดยที่ไม่ต้องผ่านคำพูด เพราะเซ็นเชื่อว่าคำพูดก็คือมายา ทันทีที่เราอธิบายความจริงด้วยคำพูดก็เท่ากับว่าเราเพี้ยนไปจากความจริงแล้ว  เซ็นไม่ใช่การศึกษาพระสูตรหรือตำรา เราต้องเข้าถึงคำสอนของพระพุทธองค์ผ่านทางชีวิตประจำวัน เช่น การทำกับข้าว การทำความสะอาดบ้านหรือการทำงานในออฟฟิต เราก็สามารถเข้าถึงเซ็นด้วยการงานเหล่านั้น นี่คือวิธีการแบบเซ็นซึ่งเน้นไปยังสิ่งที่เราสัมผัสอยู่จริงๆ และนำหลักการไปประยุกต์เพื่อเจริญสติในชีวิตประจำวันให้ได้


สวนเซน


จริงๆแล้วตัวเราก็คือพุทธะ ดังนั้นจุดมุ่งหมายของเซนจึงเป็นการตระหนักรู้ในพุทธภาวะ การบรรลุธรรมในแบบเซ็นจะเรียกว่า ซาโตริ เมื่อบรรลุแล้วก็จะเข้าสู่ความหลุดพ้น ทุกสิ่งกลายเป็นความว่าง การไม่ยึดติดในรูปแบบพิธีกรรมหรือแม้แต่พระไตรปิฎก เซ็นถือว่าการบรรลุมรรคผลนั้นไม่ได้อยู่ที่ตัวบทอักษรหรือคัมภีร์ เพราะตัวอักษรหรือภาษามีข้อจำกัด ไม่สามารถอธิบายความเป็นจริงทั้งหมดได้ เซ็นจึงเป็นนิกายที่ส่งผ่านปรัชญาการดำเนินชีวิตที่นำไปใช้ได้จริงสู่ผู้ปฏิบัติอย่างถึงแก่นและเป็นธรรมชาติ เพื่อให้เห็นสัจจธรรมด้วยตนเอง เซ็นจึงเป็นธรรมชาติที่อยู่รอบๆตัวเรา 
สิ่งที่สำคัญของเซ็นก็คือโกอัน ซึ่งหมายถึงคำถามที่ยอกย้อนเป็นปริศนาธรรม เราไม่สามารถตีความปริศนาเหล่านี้ด้วยตรรกะเหตุผลได้ ตรรกะมักอยู่บนพื้นฐานของแม่แบบที่ตายตัว เรามองโลกด้วยการจัดกลุ่มและตีตราสรรพสิ่งล่วงหน้า ซึ่งโกอันทำลายแผนแบบตรรกะทั้งหมดและบีบให้เราพยายามไขปริศนาด้วยหนทางอื่น เพื่อทำลายแม่แบบเกี่ยวกับความจริงในความของเรา


พระเซน


ยกตัวอย่างเช่น ดอกบัว ถ้าเป็นนักวิทยาศาสตร์อาจจะนึกถึงชนิดพันธุ์หรือถิ่นกำเนิดของมัน ศิลปินก็อาจจะนึกถึงความงามหรือสีสันและแสงเงาของดอกบัว  แต่เซ็นจะเห็นว่าความคิดทั้งหมดเป็นสิ่งปรุงแต่ง เป็นมายา แม้คำว่าดอกบัวก็เป็นเรื่องสมมติที่คนเพียงกลุ่มหนึ่งตกลงกันเท่านั้น ต่อเมื่อโยนความคิดทั้งหมดทิ้งไป ธรรมชาติที่แท้จริงของสิ่งนั้นจึงจะปรากฏขึ้น นั่นอาจหมายความว่ายิ่งเราพยายามสร้างสิ่งคำอธิบายเกี่ยวกับความจริงให้ยืดยาวเท่าไหร่ เราก็ยิ่งพลาดจากความจริงไปไกล  เซ็นจึงเป็นสิ่งที่อธิบายด้วยภาษาไม่ได้ ถ้าใช้ภาษาอธิบายก็จะกลายเป็นการโกหก ทุกอย่างในชีวิตเป็นเซ็น ไม่ว่านั่ง นอน ทานข้าว ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเซน  การปฏิเสธความคิดหรือคำอธิบายความจริงทั้งหมด ทำให้เซนปฏิเสธความคิดพื้นฐานของคนเราที่มักแบ่งสรรพสิ่งออกเป็นสองขั้ว ทุกครั้งที่คิดเราแบ่งสรรพสิ่งออกเป็นตัวฉันกับโลกภายนอก บนล่าง ซ้ายขวาหรือแม้แต่การเกิดการตาย เซ็นจะบอกว่าการแบ่งสรรพสิ่งออกเป็นคู่ตรงข้ามเป็นเพียงมายาของความคิด ธรรมชาติที่แท้ปราศจากความคิดปรุงแต่ง ไร้นิยามและไร้การแบ่งแยก

นิกายเซนได้สร้างคุณูปการต่อการสร้างปรัชญาญี่ปุ่น โดยการสอดแทรกผ่านทางวัฒนธรรม ศิลปะ และวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่น ยกตัวอย่างเช่น 
การรำดาบเค็มบุ

   การรำดาบญี่ปุ่นเค็มบุ ในสมัยโบราณซามูไรใช้การร่ายรำเพื่อปลุกใจให้ห้าวหาญและเพื่อจิตใจสงบเป็นสมาธิ  คนทั่วไปมักคิดว่าชีวิตที่เต็มไปด้วยการรบราฆ่าฟันของซามูไรไม่น่าจะมีอะไรที่เกี่ยวข้องกับศาสนา แต่ความจริงแล้วมิติทางจิตวิญญาณถือเป็นแก่นของวิถีซามูไร เพราะซามูไรต้องผ่านการฝึกฝนทางจิตวิญญาณอย่างเข้มข้นจนมองเห็นชีวิตและความตายเป็นเพียงหนึ่ง ไม่ใช่ขั้วตรงข้ามที่แยกขาดจากกัน จิตใจที่ผ่านการเคี่ยวกร่ำเช่นนี้ย่อมไม่ลังเลเมื่อก้าวเท้าออกสู่สรภูมิรบ จิตใจต้องว่าเปล่าซึ่งที่จริงแล้วหมายถึงอัตตา เพราะเมื่อเราพยายามเห็นสรรพสิ่งรอบตัวแล้วพยายามคิดปิดกั้นไม่ให้จิตคิดถึงสิ่งเหล่านั้น นั่นหมายถึงจิตเรากำลังเข้าไปยึดติดโดยมายาอยู่โดยไม่รู้ตัว อัตตาตัวตนย่อมปรากฏอยู่ตรงนั้น นี่ย่อมแตกต่างจากการรับรู้สรรพสิ่งตามที่มันเป็น 
ในขณะที่ซามูไรกำลังต่อสู้กับศัตรู จิตของเขาจะต้องรับรู้สรรพสิ่งตามที่มันเป็นเพื่อให้ปฏิกิริยาตอบสนองต่อการจู่โจมของศัตรูเป็นไปอย่างรวดเร็วที่สุด หากจิตหลงทางอยู่ในมายาใดๆ นั่นหมายถึงความพ่ายแพ้ อัตตาคือรับรู้ทุกอย่างตามสิ่งที่เป็น ณ วินาทีที่ดาบของศัตรูฟันลงมา จิตต้องว่างจากความคิดทั้งหมด ไม่คิดคาดการล่วงหน้าว่าคู่ต่อสู้จะใช้กระบวนการท่าไหน เราจะตั้งรับยังไง แต่ให้อยู่กับปัจจุบันและความจริงตรงหน้าเพียงอย่างเดียว เพราะวิธีนี้เท่านั้นที่การตั้งรับของเราจะฉับไวและมีประสิทธิภาพสูงสุด


ศิลปะการชงชา


พิธีชงชา ซึ่งรากฐานของพิธีชงชาก็มีรากฐานมาจากเซ็น ในสังคมตะวันตกอาจจะมองว่าการดื่มชาเป็นช่วงเวลาผ่อนคลายหรือกิจกรรมสำหรับคนที่มีความหรูราในชีวิต แต่สำหรับคนญี่ปุ่น การดื่มชาถือว่าเป็นศิลปะในการดำเนินชีวิต พิธีชงชาจึงเป็นพิธีที่ค่อนข้างสงบ เงียบและเรียบง่าย เพราะว่าทุกกิจกรรมที่ทำในห้องชงชาจะดำเนินไปอย่างเนิบช้า ให้ความใส่ใจในทุกๆสิ่งที่อยู่ในห้องแห่งนั้น พอเราให้ความสำคัญกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าก็เท่ากับว่าเราได้อยู่กับปัจจุบัน พอเรามองเห็นสิ่งสำคัญของสิ่งต่างๆในช่วงเวลานั้น เรามักจะลืมความสำคัญของตัวเองไป ซึ่งนั่นก็เป็นวิธีหนึ่งในการลดอัตตาของตัวเองลง

    จากการศึกษาก่อนเริ่มพิธีชงชาของชาวญี่ปุ่นจะสังเกตได้ว่า ซุ้มประตูทางเข้าบ้าน เกือบทุกแห่งของบ้านจะมีซุ้มประตูที่ตั้งใจทำให้เตี้ย เพราะไม่ว่าจะมียศถาบรรดาศักดิ์สูงแค่ไหน ซามูไร โชกุนหรือว่าคนธรรมดาทั่วไป แขกผู้มาเยือนบ้านของชาวญี่ปุ่นก็ต้องลดตัวเองลงเพื่อที่จะมุดลอดซุ้มประตูนี้ไป ซึ่งนี่ก็เป็นสัญลักษณ์ของการรู้จักถ่อมตัวและลดอัตตาตัวเองลงเพื่อที่จะเข้าสู่พิธีชงชา  แขกผู้ที่มาจะต้องเอากระบวยตักน้ำล้างมือทั้งสองข้างหลังจากนั้นก็ล้างปาก เป็นการชำระร่างกายและจิตใจของตนเองให้สะอาดก่อนจะประกอบพิธีกรรมศักสิทธิ์ 
กิจกรรมในห้องชงชาจะเป็นไปอย่างเนิบช้ามาก มีการชี้ชวนให้พินิจพิจารณาชื่นชมความงามของห้องชงชาที่มีแสงสลัว แจกันหรือดอกไม้ที่ประดับไว้ แม้กระทั่งการชื่นชมด้วยหูนั่นคือการฟังเสียงน้ำเดือดที่อาจเปรียบเสมือนลมกำลังพัดผ่านใบสน ทุกท่วงท่าของการชงชาเต็มไปด้วยสติและความใส่ใจ พิธีชงชาเป็นการหลอมรวมศิลปะทุกประเภทเข้าด้วยกัน ถือเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง เราอาจจะไม่ต้องการกิจกรรมอะไรมากมายก็ได้แต่ว่าเราต้องใส่ใจกับสิ่งต่างๆที่เราทำอยู่ในตอนนั้น พอเราใส่ใจเราก็จะเห็นความสำคัญของสิ่งที่เราทำและเมื่อเราเห็นความสำคัญต่อสิ่งที่เราทำ เราก็น่าจะเห็นความสำคัญของตัวชีวิตเองด้วยเหมือนกัน
ศิลปะการจัดดอกไม้: อิเคบานะ



การจัดดอกไม้หรืออิเคบานะ  ถือเป็นความสวยงามแบบเฉพาะของชาวญี่ปุ่น จากการศึกษาเมื่อสังเกตดูมันคือความงามที่ค่อนข้างเลียนแบบธรรมชาติหรืออาจจะเป็นธรรมชาติจริงๆ การเลือกภาชนะที่เหมาะสมและดูความงามของดอกไม้ อิเคบานะจึงแสดงให้เห็นว่าชาวญี่ปุ่นนั้นเป็นคนละเอียดอ่อน คนละเอียดอ่อนมักจะสัมผัสความงามอะไรบางอย่างที่คนไม่ละเอียดอ่อนสัมผัสไม่ได้ ชาวญี่ปุ่นจึงรักดอกไม้ รักต้นไม้ เวลามองจึงเห็นความงามในธรรมชาติของมัน  เหมือนกับว่าการจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่นไม่ใช่การที่เราจัดดอกไม้แล้วมันเป็นคาแรกเตอร์ของเรา แต่ว่ามันคือการที่ดอกไม้ยืมมือเราเพื่อที่จะจัดมันให้เสร็จสรรพ์ ไม่มีตัวเราอยู่ในนั้น วิธีคิดนี้จึงเป็นวิธีที่คิดถึงดอกไม้มากกว่าตัวเราเอง การจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่นจึงเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง คือไม่มีอัตตาในผลงานแต่เป็นเพียงแค่ดอกไม้ถูกจัดผ่านตัวเราไปแค่นั้นเอง 


มัทซึโอะ บาโช : นักแต่งกวีไฮกุ


การแต่งบทกวีไฮกุ ตัวอย่างเช่นบทกวีของบาโช แม้ในกลางหิมะ ดอกไม้ยามเที่ยงวันไม่โรยรา ใต้แสงอาทิตย์ ถ้าเราอ่านตามตรงก็เหมือนกับการบรรยายภาพๆหนึ่งให้เราเห็นเท่านั้นเอง นั่นถืออาจจะเป็นเซนแบบหนึ่งก็คือ เป็นงานศิลปะที่ไม่ได้เอาตัวเราหรือความคิดของเราพยายามใส่เข้าไปในธรรมชาติ โดยบาโชจะให้ความสำคัญกับการเกิดขึ้นอย่างฉับพลันของบทกวีไฮกุ ถ้ามีสรรพสิ่งเกิดขึ้นในทันทีก็จะรีบเขียนไว้และหลังจากที่เขียนก็ไม่ควรจะไปยุ่งกับมันอีกเลย คล้ายๆกับการเขียนพู่กันญี่ปุ่น ถ้าเราตวัดไปแล้วครั้งหนึ่งก็ไม่มีการไปแก้ไขอะไรอีกเลย และคล้ายกับการจัดดอกไม้ที่ให้ความจริงไหลผ่านตัวเองซึ่งในช่วงเวลานั้น เราอาจจะไม่ได้เป็นตัวเราแต่เป็นธรรมชาติหนึ่งที่ผ่านมือเขาไปและก็ออกมาโดยที่ไม่ได้ผ่านความคิดของเรา 

ทั้งหมดนี้อาจเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นว่าชาวญี่ปุ่นให้ความเคารพว่า ธรรมชาตินั้นเป็นสิ่งสูงส่ง สังคมญี่ปุ่นจึงเป็นสังคมที่คนลดทอนตัวเองลง ให้ความสำคัญกับตัวเองน้อยและให้ความสำคัญกับธรรมชาติมากกว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือสติและการเอาใจใส่ทุกอย่างในชีวิตประจำวัน ดำเนินชีวิตที่ปกติไปเรื่อยๆ วิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นในปัจจุบันกับศาสนาพุทธมหายานนิกายเซน อาจไม่เป็นที่แน่นอนว่าจริงๆแล้ว เซนจะยังคงปรากฏให้เห็นในการดำเนินชีวิตของชาวญี่ปุ่นจริงหรือไม่ หรืออาจจะยังคงสอดแทรกผ่านนิสัยหรือรสนิยมของคนญี่ปุ่นอยู่ เพราะเซนไม่สามารถอธิบายได้ด้วยคำพูด



ขอบคุณเครดิตภาพ
ที่มาบทความ : Dek-southeast Asia


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น