หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2562

กฎหมายระหว่างประเทศ กับ องค์การระหว่างประเทศ


ที่มาภาพ : http://oknation.nationtv.tv/blog/Thaihippy/page92


บ่อเกิดของกฎหมายระหว่างประเทศ

ตามข้อ 38 ธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ บ่อเกิดของกฎหมายระหว่างประเทศ ได้แก่

1) สนธิสัญญาระหว่างประเทศ เป็นตราสารที่เกิดจากความตกลงยินยอมของรัฐต่างๆ ผูกพันเฉพาะรัฐที่แสดงเจตนาเข้าผูกพัน โดยการลงนามให้สัตยาบัน บรรดาอนุสัญญา ข้อตกลง (accord) ความตกลง (agreement) หรือ charter แม้มีชื่อเรียกต่างกัน แต่มีฐานะในทางกฎหมายระหว่างประเทศเท่าเทียมกัน
- การลงนามรับรอง ยังไม่ผูกพันรัฐ เป็นเพียงการยืนยันความถูกต้องหลังจากการเจรจา ต้องให้สัตยาบันจึงจะมีผลผูกพัน
- การภาคยานุวัตร เป็นการแสดงเจตนาเข้าเป็นภาคีหลังระยะเวลาการเปิดให้สัตยาบันของสนธิสัญญาสิ้นสุดลง
2) จารีตประเพณีระหว่างประเทศ เกิดจากการปฏิบัติของรัฐหลายรัฐเป็นช่วงระยะหนึ่งและเกิดเป็นแนวปฏิบัติที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นกฎหมาย เช่น เขตเศรษฐกิจจำเพาะ, EIA
3) หลักกฎหมายทั่วไป เป็นหลักการหรือแนวคิดทางนิติศาสตร์ที่มีไว้เพื่อผดุงความยุติธรรม ส่วนใหญ่นำมาจากกฎหมายภายใน แต่บางหลักก็เกิดขึ้นจากสังคมระหว่างประเทศ เช่น หลักห้ามแทรกแซงกิจการภายใน หลักไม่มีผู้ใดบังคับรัฐขึ้นศาลระหว่างประเทศได้ หากปราศจากความยินยอม

ที่มาภาพ : https://th.wikipedia.org/wiki/องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน

     องค์การระหว่างประเทศ เป็นรูปแบบหนึ่งของกรอบความร่วมมือระหว่างรัฐเป็นสถาบันที่มีลักษณะถาวร ต่อเนื่อง และสามารถดำเนินการได้อย่างอิสระ โดยอาศัยกรอบการดำเนินงานที่ตั้งขึ้นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่รัฐสมาชิกผู้ก่อตั้งมีเจตจำนง
การก่อตั้ง  ก่อตั้งโดยตราสารที่สะท้อนเจตจำนงของรัฐสมาชิกที่เป็นผู้กำหนดเนื้อหาอำนาจสิทธิหน้าที่ของรัฐสมาชิก ซึ่งมีรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งในรูปแบบของสนธิสัญญา เช่น UN  EU หรือตราสารที่ก่อตั้งเป็นมติ เช่น OPEC ASEAN

ลักษณะขององค์การระหว่างประเทศ
-มีการรวมกลุ่มอย่างถาวรของรัฐ
-มีการแบ่งแยกอย่างเด็ดขาด ถึงจุดมุ่งหมายและอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์การระหว่างประเทศกับรัฐสมาชิก
-องค์การระหว่างประเทศมีการปฏิบัติหน้าที่อย่างเอกเทศในระดับระหว่างประเทศมิใช่ระดับชาติ
-ขอบข่ายอำนาจขององค์การระหว่างประเทศเป็นไปตามตราสารก่อตั้งองค์การระหว่างประเทศซึ่งแตกต่างไปตามวัตถุประสงค์ขององค์การระหว่างประเทศ

อำนาจหน้าที่ มีหลากหลายขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของแต่ละองค์การ จะต้องไม่กระทำการเกินขอบอำนาจ โดยทั่วไปมีอำนาจในการออกกฎเกณฑ์ใช้บังคับควบคุมรัฐสมาชิก แต่ไม่อำนาจบังคับบัญชา ตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ขององค์การระหว่างประเทศ
ผู้ทรงสิทธิในกฎหมายระหว่างประเทศ (บุคคลในทางระหว่างประเทศ) คือ บุคคลที่ได้รับการรับรองว่ามีสภาพบุคคลในทางระหว่างประเทศมีความสามารถที่จะถือสิทธิและมีหน้าที่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ

ผลของการมีสภาพบุคคลในทางระหว่างประเทศ

1) สิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ  ตามกฎบัตรสหประชาชาติ ข้อ 104 องค์การฯจะมีความสามารถทางกฎหมายในดินแดนของรัฐสมาชิกขององค์การสหประชาชาติเท่าที่จำเป็นเพื่อการปฏิบัติหน้าที่การงานขององค์การและเพื่อให้บรรลุตามความมุ่งประสงค์ขององค์การ 
2) ความสามารถในการเรียกร้องประโยชน์จากสิทธิ ตามกฎบัตรสหประชาชาติ ข้อ 34 การระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธี และ ข้อ 96 การร้องขอศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับกฎหมาย
3) มีความสามารถในแง่นิติสัมพันธ์
บุคคลธรรมดาเป็นผู้ทรงสิทธิตามกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ บุคคลธรรมดาเป็นผู้ทรงสิทธิที่ไม่ได้มีสิทธิตามระบบกฎหมายระหว่างประเทศโดยตรง แต่ที่มีภายใต้ความยินยอมของรัฐ สิทธิของบุคคลธรรมดาจึงมีจำกัด โดยมีสิทธิเรียกร้องได้เฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน แต่ไม่มีสิทธิทำสนธิสัญญาหรือเรียกร้องโดยตรงในเวทีระหว่างประเทศ

ความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายระหว่างประเทศกับกฎหมายภายใน
ในส่วนที่คล้ายคลึงกันคือเรื่องการยอมรับ
          แต่ละประเทศจึงเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายระหว่างประเทศที่บรรดานานาอารยประเทศ (civilized nations) ยอมรับร่วมกันให้มีผลผูกพัน
ในส่วนการขัดกันของกฎหมายภายในกับกฎหมายระหว่างประเทศ
          จะถือว่ากฎหมายใดมีลำดับศักดิ์สูงกว่ากันนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับระบบกฎหมายภายในของแต่ละประเทศที่กำหนดไว้ให้กฎหมายใดมีผลบังคับใช้ หรือกำหนดขั้นตอน กระบวนการปรับใช้กฎหมายระหว่างประเทศ ให้มีผลบังคับในประเทศของตน
         ซึ่งโดยทั่วไปแล้วหากมีการขัดกันระหว่างกฎหมายในกับกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว จึงถือว่ากฎหมายระหว่างประเทศมีลำดับศักดิ์สูงกว่า

ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง
1. ทฤษฎีทวินิยม กฎหมายระหว่างประเทศไม่มีผลบังคับโดยตรงภายในรัฐ จะมีผลภายในรัฐก็ต่อเมื่อรัฐได้ออกกฎหมายภายในให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น ประเทศไทย

2. ทฤษฎีเอกนิยม กฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภายในเป็นหนึ่งเดียวกัน กฎหมายระหว่างประเทศใช้บังคับโตยตรงภายในรัฐได้ โดยไม่ต้องออกกฎหมายเพื่ออนุวัตรการ รัฐยอมรับว่าการใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐนั้นยังต้องตกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของกฎหมายระหว่างประเทศบางประการเช่นเดียวกัน  โดยที่รัฐไม่สามารถที่จะแสดงเจตจำนงหรือยกเว้นเป็นประการอื่นได้ เช่น กฎหมายเด็ดขาด กฎหมายระหว่างประเทศที่ห้ามการรุกราน การทำลายล้างเผ่าพันธุ์
*กฎหมายเด็ดขาดของกฎหมายระหว่างประเทศย่อมอยู่ในลำดับที่สูงกว่ากฎหมายภายในของรัฐ

ประเทศไทยยื่นสัตยาบันสารอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ
ที่มาภาพ : http://humanrights.mfa.go.th/th/news/119/

อนุสัญญา/สนธิสัญญา/ความตกลง/ข้อตกลง มีผลผูกพันเฉพาะรัฐที่แสดงเจตนายอมเขาเป็นภาคี

องค์ประกอบของสนธิสัญญา
1.ข้อความตกลงยอมรับร่วมกัน สนธิสัญญาจะต้องเกิดจากความยินยอมพร้อมใจไม่เกิดจากการข่มขู่หรือการฉ้อโกง
2.คู่ภาคี
3.พันธะผูกพันทางกฎหมาย

ขั้นตอนการทำสนธิสัญญา
1.การเจรจา ต้องมีลักษณะตามมาตรา 7 อนุสัญญากรุงเวียนนา และเข้าร่วมทำความตกลง
2.การลงนาม เป็นขั้นตอนการยอมรับตามข้อตกลงในสนธิสัญญา ลงนามย่อ,ลงนามเต็ม
3.การให้สัตยาบัน ถือเป็นขั้นตอนการยอมรับครั้งสุดท้ายและเกิดผลสมบูรณ์ให้รัฐภาคีผูกพันตามสนธิสัญญา มีวัตถุประสงค์ให้รัฐภาคีได้พิจารณาทบทวน
4.การจดทะเบียน เป็นไปตามมาตรา 102 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ

ผลของสนธิสัญญา
ย่อมเกิดพันธะทางกฎหมายให้รัฐภาคีมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย โดยหลักสนธิสัญญาจะไม่ก่อให้เกิดสิทธิหน้าที่ของบุคคลภายนอก แต่มีข้อยกเว้นคืออาจก่อให้เกิดสิทธิหรือภาระแก่รัฐที่สามก็ได้เช่น กรณีคลองสุเอซที่เปิดเป็นคลองสาธารณะ

การสิ้นสุดสนธิสัญญา
1.เมื่อถึงกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญา
2.คู่ภาคีตกลงให้สนธิสัญญาสิ้นผล
3.คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบอกเลิกสัญญา
4.คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามสนธิสัญญา
5.เมื่อเกิดสถานการณ์อย่างหนึ่งเช่นภาวะสงคราม
6.เมื่อมีการทำสัญญาขึ้นใหม่
7.เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอำนาจอธิปไตยของคู่สัญญา
8.เมื่อสนธิสัญญาขัดต่อหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศที่สร้างขึ้นใหม่


บทความโดย : Dek-South East Asia

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น